skip to main content

การรักษาชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์

เมื่อการฟ้องร้องทำให้ข้อตกลงทางธุรกิจหยุดชะงัก คาร์กิลล์แสดงความรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดของตนและยอมรับผลกระทบที่ตามมา

January 01, 2015

ในปี 1998 คาร์กิลล์ได้ขายกิจการเมล็ดพืชต่างประเทศของตนให้แก่ Monsanto และประกาศแผนเพิ่มเติมที่จะขายธุรกิจเมล็ดพืชในอเมริกาเหนือ ก่อนที่การขายจะได้ข้อสรุป Pioneer Hi-Bred ยื่นฟ้องคาร์กิลล์ โดยอ้างว่าคาร์กิลล์ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของตนไปในรูปแบบของเชื้อพันธุ์พืชหรือเนื้อเยื่อของเมล็ดพันธุ์ การกล่าวหาทำให้มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของคาร์กิลล์ และทำให้ชื่อเสียงของบริษัทในการทำธุรกิจอย่างซื่อตรง มีคุณธรรม ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

หลังจากที่ Pioneer Hi-Bred ยื่นฟ้องคดี คาร์ิกิลล์ก็เริ่มการสืบสวนภายในองค์กรอย่างเข้มงวด ซึ่งได้ผลออกมาว่าเป็นเรื่องจริงที่พนักงานของคาร์กิลล์ซึ่งเคยทำงานกับ Pioneer Hi-Bred นำเอาวัสดุจากนายจ้างคนก่อนมาใช้ในโครงการเพาะพันธุ์ข้าวโพดของคาร์กิลล์โดยมิชอบ ผู้ให้คำปรึกษาจากภายนอกองค์กรแนะนำว่าคาร์กิลล์ไม่ควรยอมรับว่ามีการกระทำผิดและผลักดันให้มีการทำข้อตกลงกัน แต่ความยึดมั่นต่อความมุ่งมั่นที่มีมาช้านานของบริษัทในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรมทำให้ผู้บริหารของคาร์กิลล์ปฏิเสธ

โรเบิร์ต ลัมป์กินส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่่ฝ่ายการเงินของคาร์กิลล์ และเฟรดเดอริก คอร์ริแกนซึ่งเป็นรองประธานบริหารของบริษัท ได้เข้าพบ Pioneer Hi-Bred โดยตรงด้วยความพยายามที่จะแจ้งผลการสืบสวนและแก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้อง “ผู้บริหารของ Pioneer ถึงกับพูดไม่ออกเลย” เจฟฟรีย์ สเกลตันซึ่งเป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายคดีของคาร์กิลล์เล่าฟื้นความจำ “การยอมรับอย่างเปิดเผยว่าคาร์กิลล์ทำผิดพลาดไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่นักกฎหมายภายนอกองค์กรของเราจะเข้าใจได้”

คาร์กิลล์ตกลงที่จะทำลายวัสดุผิดกฎหมายในโครงการเพาะพันธุ์ข้าวโพดดังกล่าวของบริษัท และจะชดเชยค่าเสียหายที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับ Pioneer Hi-Bred และจ่ายค่าธรรมเนียมการขออนุญาตใช้งานวัสดุดังกล่าวในอนาคต และคาร์กิลล์ยังแจ้งไปยังบริษัท Monsanto ที่ได้ซื้อกิจการต่างประเทศของบริษัทว่าอาจมีการใส่วัตถุดิบบางอย่่างในผลิตภัณฑ์ หลังจากระงับการขายกิจการในอเมริกาเหนือของบริษัทในช่วงที่เกิดคดีความ คาร์กิลล์ขายธุรกิจดังกล่าวให้กับผู้ซื้ออีกเจ้าในปี 2000

เพื่อสะท้อนถึงปัญหานี้ ประธานกรรมการบริหารเออร์นี ไมเซ็คได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยังบริษัท เพื่อกระตุ้นให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติของคาร์กิลล์ ได้แก่ แนวคิดหลักเจ็ดประการที่เป็นรากฐานจรรยาบรรณของบริษัท “เมื่อเรื่องราวนี้จบลง เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าคาร์กิลล์มีความซื่อตรงในการเผชิญหน้ากับปัญหาและกระทำในสิ่งที่เหมาะสม” เขาเขียน “[นี่คือ]บริษัทที่เราทุกคนจะสามารถภาคภูมิใจได้”

สเกลตันซึ่งยังทำงานที่คาร์กิลล์ในปัจจุบัน ยังจดจำช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้ว่าการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายด้วยการสู้ยิบตาอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป “ในที่สุด จรรยาบรรณของเราช่วยให้ข้อพิพาทคลี่คลายลงในทางที่ดี” เขาเล่า “การเห็นตัวอย่างเช่นนี้สอนให้ผมรู้ถึงค่านิยมที่แท้จริงของคาร์กิลล์”