skip to main content

เมืองไฮริเวอร์สร้างธุรกิจเนื้อวัวที่ยั่งยืน 

โรงงานเนื้อวัวแห่งใหม่ของคาร์กิลล์ในแคนาดา พบความสำเร็จในวิธีการแปรรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

January 01, 2015

ทางตอนใต้ของเมืองคาลการี่ ในมณฑลแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา คือที่ตั้งของเมืองซึ่งตั้งชื่อตามแม่น้ำไฮวูดที่ไหลตัดผ่านตัวเมือง เมืองไฮริเวอร์เป็นที่รู้จักดี ไม่เพียงในแคนาดาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปเนื้อวัวที่คาร์กิลล์ดำเนินงาน ที่นี่คือโรงงานที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโรงงานประเภทเดียวกัน ซึ่งมีระบบแปลงวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปให้กลายเป็นพลังงานทดแทน โรงงานแห่งนี้ยังมีการว่าจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ทำให้โรงงานที่ไฮริเวอร์กลายเป็นสถานประกอบการนานาชาติ ซึ่งมีพนักงานถึงเกือบ 80 สัญชาติ

เมื่อคาร์กิลล์ขยายสู่ประเทศแคนาดาในปี 1928 พวกเขาเริ่มจากธัญพืชเป็นหลัก ในทศวรรษที่ 1980 ผู้นำของบริษัทได้แสวงหาโอกาสต่างๆ อย่างกระตือรือร้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าผู้ผลิตเนื้อวัวบรรจุกล่อง และเพื่อขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่แนวคิดที่จะสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อวัวแห่งแรกของคาร์กิลล์ขึ้นในแคนาดา ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทในขณะนั้น คาร์กิลล์ได้ทุ่มทุนกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับโรงงานแห่งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อตลาด ชุมชน และความยั่งยืน

ขณะที่โรงงานขนาด 175,000 ตารางฟุตเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ผู้คนกลุ่มเล็กๆ จาก Excel Corporation, Cargill Limited และบริษัทบรรจุจากแคนาดารายอื่นๆ ได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง Team Canada พวกเขาได้ออกเดินทางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และทำงานที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์จำนวนหนึ่ง เพื่อวิจัยและพัฒนากระบวนการที่ยั่งยืนสำหรับไฮริเวอร์

โรงงานแห่งนี้เปิดทำการในปี 1989 โดยเริ่มจากพนักงานประมาณ 1,400 คน ทำงานกะเดียวเพื่อแปรรูปวัว 1,200 ตัวต่อวัน ตลอดหลายปีที่โรงงานแห่งนี้เติบโตขึ้น และมีพนักงานกว่า 2,000 คนทำงานเป็นสองกะเพื่อแปรรูปวัว 4,500 ตัวต่อวัน หลังจากนั้นไม่นานโรงงานแห่งนี้ก็กลายเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อวัวที่ใหญ่สุดในประเทศ

คาร์กิลล์ได้ร่วมมือกับ Ducks Unlimited Canada เพื่อพัฒนาโครงการอนุรักษ์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของนกน้ำมากขึ้น พร้อมกับปรับปรุงการดำเนินงานของคาร์กิลล์ไปพร้อมกัน โครงการบำบัดน้ำเสียภายในสถานที่ปฏิบัติงานของคู่ค้า ได้ช่วยบำบัดน้ำเสียจากโรงงานไฮริเวอร์ จากนั้นจึงส่งไปยัง Frank Lake ที่อยู่ใกล้เคียง และแปลงให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับอยู่อาศัยของสัตว์ป่าในท้องถิ่น หลายทศวรรษหลังจากนั้น ในปี 2011 โรงงานไฮริเวอร์ได้มีความพยายามครั้งใหญ่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขา คาร์กิลล์ได้ติดตั้งระบบแปลงวัสดุเหลือทิ้งเป็นเชื้อเพลิง เพื่อแปลงขยะอินทรีย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ มีเทนจะถูกกักเก็บไว้ในบ่อวัสดุเหลือทิ้งที่มีวัสดุปิดคลุม จากนั้นจึงนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง แทนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศ โรงงานที่ไฮริเวอร์ของคาร์กิลล์ยังได้รับการรับรอง ISO 14001 อีกด้วย ซึ่งช่วยยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

เมื่อไม่นานมานี้ โรงงานไฮริเวอร์ได้เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 25 ปีของพวกเขา และเสนอผลงานการจำหน่ายเนื้อวัวมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และส่วนแบ่งเนื้อวัวแปรรูปที่สูงถึงหนึ่งในสามของประเทศ โรงงานไฮริเวอร์ยังได้ช่วยนำคาร์กิลล์ไปสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และทำหน้าที่เป็นแบบอย่างของการแปรรูปเนื้อวัวอย่างยั่งยืนทั่วโลกต่อไป ประมาณ 50% ของพลังงานของโรงงานแห่งนี้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหล่อเลี้ยงการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อวัวให้กับลูกค้าผู้จำหน่ายปลีกและธุรกิจจัดเลี้ยง สำหรับให้บริการในตลาดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ