skip to main content

ธัญพืชล่องไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี

คาร์กิลล์ได้มีส่วนช่วยในการเติบโตของตลาดการส่งออกธัญพืชของอเมริกา จากการกำหนดเส้นทางการขนส่งธัญพืชลงไปยังอ่าวเม็กซิโก

January 01, 2015

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การลำเลียงธัญพืชของอเมริกาจะใช้เส้นทางตะวันออกขวางแนวประเทศ เริ่มจากภาคตะวันตกตอนกลางไปยังภาคตะวันออกเฺฉียงเหนือ ผ่านบัฟฟาโล นิวยอร์ก และคลองอีรี โครงการวิศวกรรมโยธามากมายซึ่งริเริ่มในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ช่วยเปิดเส้นทางใหม่จากเหนือสู่ใต้ ทำให้การขนส่งผ่านแม่น้ำมิสซิสซิปปีและแม่น้ำสาขามีประสิทธิภาพมากขึ้น และในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การส่งออกธัญพืชนั้นได้เติบโตเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผลผลิตของฟาร์มในสหรัฐก็เพิ่มมากขึ้น และภาคตะวันตกตอนกลางได้กลายเป็นแหล่งธัญพืชของโลก ในช่วงทศวรรษ 1950 ธัญพืชได้ถูกขนส่งจากมิสซิสซิปปีลงไปยังอ่าวเม็กซิโก คาร์กิลล์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางลำเลียงสินค้าสายสำคัญจากเหนือลงใต้ โดยการวางตำแหน่งของตัวเองอย่างมีกลยุทธ์ตามแม่น้ำของอเมริกา

สถานีใต้สุดของคาร์กิลล์บนแม่น้ำมิสซิสซิปปีนั้นอยู่ที่เมมฟิส รัฐเทนเนสซี แต่ก่อนที่บริษัทจะขยายเส้นทางลงใต้ไปได้ไกลกว่านี้ บริษัทจำเป็นต้องลงทุนในสถานีของตนเองในตอนบนของมิสซิสซิปปีก่อน คาร์กิลล์ได้ทำการขุดช่องทางไปยังสถานีใหม่ของตนเองในบริเวณใกล้มินนีแอโพลิส โดยตั้งชื่อว่า Port Cargill เส้นทางนี้ได้ทำให้แม่น้ำมินนิโซตาเปิดรับการเดินเรือเชิงพาณิชย์ และวางตำแหน่งให้ Port Cargill กลายเป็นสถานีของบริษัทที่สำคัญที่สุดในมินนิโซตา

ในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ขั้นต่อไปของคาร์กิลล์ในการเปิดเส้นทางลำเลียงทางน้ำ คือการสร้างกลุ่มสถานีตลอดแนวของแม่น้ำอิลลินอยส์ สถานีเหล่านี้ไม่ใช่ไซโลขนาดใหญ่ แต่ใช้โครงสร้างที่มีความจุขนาดปานกลาง โดยออกแบบขึ้นเพื่อที่จะเคลื่อนย้ายธัญพืชจากรถบรรทุกไปยังเรือท้องแบนได้อย่างรวดเร็ว สถานีเหล่านี้ได้ทำการขนส่งธัญพืช ข้าวโพด และถั่วเหลืองจากอิลลินอยส์ ขึ้นเหนือไปยังชิคาโกและเกรตเลกส์ และลงใต้ไปยังเซนต์หลุยส์ มิสซูรี ตามแนวแม่น้ำมิสซิสซิปปี

ในปี 1955 คาร์กิลล์ได้สร้างสถานีขนถ่ายมูลค่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐในบาตัน รูช รัฐลุยเซียน่า ใกล้ปากแม่น้มิสซิสซิปปีที่อ่าวเม็กซิโก ทางบริษัทได้ออกแบบสถานีแห่งนี้ให้สามารถรองรับเมล็ดพืชได้ถึง 18 ล้านบุชเชิลต่อปี ภายในเวลาสามปี ความจุของสถานีก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นสามเท่า และภายในปี 1959 ที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นสถานีส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดบนชายฝั่งอ่าวสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ความจุของสถานีดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นเป็น 200 ล้านบุชเชิลต่อปี ซึ่งสูงกว่าไซโลขนาดใหญ่ของคาร์กิลล์ที่ใช้งานอยู่ที่เกรตเลกส์มาก

คาร์กิลล์ไม่เพียงขนส่งธัญพืชลงไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีเท่านั้น ทางบริษัทยังได้ทำการลงทุนในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งธัญพืชตามแนวของแม่น้ำ รวมถึงการสร้างเรือที่ช่วยทำให้ธัญพืชของตนเองเข้าถึงตลาดโลกได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รูปแบบการขนส่งยังคงมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับวิธีการของคาร์กิลล์ในการจัดเตรียมช่องทางสำหรับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในการเข้าถึงตลาดที่ดีที่สุดสำหรับสินค้าของพวกเขา